ทำไมองค์กรชั้นนำถึงเลือกใช้ OKR เป็นเครื่องมือในการวัดผล และเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จแทน KPI
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คำว่า OKR หรือการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลการทำงานของพนักงานอาจยังไม่ค่อยคุ้นหูในบ้านเรานัก ทั้งที่องค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศต่างก็หันมาใช้วิธีนี้แทนคำว่า KPI กันแล้ว เพราะนอกจากจะวัดผลได้อย่างชัดเจนและมีความยืดหยุ่นแล้ว หลายคนยังบอกว่านี่คือเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
แต่ในขณะเดียวกันเราเชื่อว่ายังมีหลายองค์กรที่ยังสงสัยว่า OKR คืออะไร สามารถนำไปใช้งานได้อย่างไรบ้าง รวมถึงเหตุผลว่าทำไมองค์กรระดับโลกหลายแห่งถึงก้าวข้ามการวัดผลแบบ KPI แล้วหันมาใช้ OKR แทน
OKR คืออะไร
OKR ย่อมาจาก Objective and Key Results คือ เครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผล
- การวัดผลด้วย OKR จะต้องมีกรอบเวลาที่แน่ชัด และสามารถประเมินผลได้
- การตั้งเป้าหมายของ OKR ต้องชัดเจน เข้าใจง่าย รวมทั้งเป้าหมายต้องไม่ง่ายจนเกินไป เพื่อเป็นความท้าทายให้ทุกคนอยากบรรลุเป้าหมายแห่งความสำเร็จ และที่สำคัญต้องไม่ยากจนพนักงานรู้สึกท้อถอยตั้งแต่แรกเริ่ม
สำหรับเป้าหมายของ OKR มีไว้เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกอยากบรรลุความสำเร็จ มากกว่าการวัดผลของความสำเร็จ บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นว่าการตั้งเป้าของ OKR นั้นสูงมากจนแทบจะพูดได้ว่าเป็น mission to the moon และมีโอกาสไม่มากที่จะทำสำเร็จได้ 100% ซึ่งนั่นถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะหัวใจที่แท้จริงของ OKR คือการสร้างการรับรู้ถึงภารกิจที่ชัดเจน เมื่อทุกคนได้รับรู้และได้รับผิดชอบในแต่ละส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะเป็นพลังที่ช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จและก้าวไกลได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
OKR ที่ดี ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
โดยปกติแล้ว OKR จะประกอบด้วยเป้าหมายหลัก (Objective) ประมาณ 3-5 อย่าง ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการทำงานของพนักงานแต่ละคน รวมทั้งบทบาทต่อทีมและองค์กร ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทำให้เกิดการพัฒนาและมีความท้าทาย แต่ต้องสามารถลงมือปฏิบัติและวัดผลได้จริง
เมื่อเราตั้งเป้าหมายหลักได้แล้ว จะตามมาด้วยการวัดผลความสำเร็จของเป้าหมายหลัก (Key Results) โดยจะแยกย่อยลงมาอีก 3-5 ข้อย่อยต่อ 1 เป้าหมาย ส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดที่ใช้ในการตรวจสอบและประเมินผลงาน เพื่อหาวิธีพัฒนาหรือแก้ปัญหาเพื่อให้เป้าหมายหลักของเราบรรลุความสำเร็จได้
โดยที่การวัดผลแต่ละอย่างควรมีตัวเลขที่ชัดเจน เช่น 1 – 10 หรือค่าเปอร์เซนต์ที่ 1 – 100% ส่วนระยะเวลาในการวัดผลนั้นอาจขึ้นอยู่กับแผนหรือทีมงาน หากมีแผนงานระยะยาว อาจตั้งการวัดผลไว้ที่ 6 เดือน – 1 ปี แต่หากองค์กรมีการปรับเปลี่ยนบ่อย อาจวัดผลทุกเดือน หรือทุกไตรมาสธุรกิจ แต่โดยทั่วไปพนักงานแต่ละคนจะสามารถวัดผลการทำงานของตัวเองได้เป็นประจำอยู่แล้ว
จุดเด่นของ OKR คืออะไร
จุดเด่นที่ทำให้ OKR มีความแตกต่างกับ KPI นั่นคือ เป็นระบบวัดความสำเร็จที่เราสามารถย้อนกลับมาดูได้ เพราะมีการประเมินผลในระยะที่สั้นกว่า และความถี่แบบนี้จะช่วยให้พนักงานปรับตัวได้ทัน รวมทั้งหัวหน้างานยังสามารถเข้าไปช่วยวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างตรงจุดประสงค์ นอกจากนี้ OKR ยังเป็นการวัดผลในเชิงปริมาณหรือตัวเลขที่เห็นผลอย่างชัดเจน ทำให้เห็นว่าส่วนไหนที่ควรพัฒนาต่อ หรือส่วนไหนที่บรรลุจุดประสงค์ของตัวพนักงานและทีมแล้ว
ความแตกต่างของ OKR และ KPI
สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างการวัดผลทั้ง 2 ประเภทมีดังนี้
- OKR จะไม่เชื่อมโยงกับผลตอบแทน ในขณะที่ KPI จะส่งผลโดยตรงกับผลตอบแทนของพนักงาน
- OKR จะประกาศผลให้ทุกคนในองค์กรได้รับรู้ และจะมีการทบทวนบ่อยกว่า เป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส ในขณะที่ KPI จะไม่มีการประกาศ และไม่มีการทบทวน ส่วนมากจะวัดผลปีละครั้ง
- OKR จะมุ่งเน้นไปที่การทบทวนและปรับปรุงผลงานเพื่อเป็นแนวทางในการบรรลุความสำเร็จ
- OKR มาจากการระดมความคิดของพนักงานผู้ปฏิบัติงานเป็นส่วนใหญ่ หรือ Bottom-up ในขณะที่ KPI จะเป็นการคิดแบบ Top-down
การนำ OKR มาใช้กับองค์กร
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ OKR กลายเป็นที่สนใจและถูกนำมาใช้กับหลายๆ องค์กรคือ บริษัทชั้นนำที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกอย่าง Google ที่ได้นำเอาระบบนี้มาใช้ และมีการประกาศ OKR แต่ละแผนกให้ทุกคนได้รู้ เพื่อความโปร่งใสและยังเป็นแรงผลักดันให้พนักงานกล้าที่จะก้าวออกจาก comfort zone เพื่อให้บรรลุความสำเร็จ รวมทั้งยังทำให้พนักงานมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดและวางแผนเพื่อวัดผลการทำงานของตัวเอง
ส่วนในบ้านเราก็มีหลายบริษัทชั้นนำ ที่ได้นำเอาระบบ OKR มาใช้กับองค์กร รวมถึง RS GROUP เองที่ใช้วิธีการนี้ในการประเมินความสำเร็จในการทำงานของพนักงาน และมีการทบทวนผลงานทุกไตรมาส เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถปรับแผนการทำงานได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งหัวหน้างานยังสามารถร่วมแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้มีผลการทำงานที่บรรลุเป้าหมาย อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้องค์กรเติบโตและก้าวไปข้างหน้า สมกับ motto ที่ว่า Passion to Win หรือแรงผลักดันไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง
Source : OKR-thai.com / hrnote.asia / finnomena