Back

“คูลเจอาร์ม-พิพัฒน์” นักคิด นักออกแบบ ผู้ไม่หยุดแค่ฝัน แต่ลงมือทำจริง

ส่งต่อข่าวนี้
  • Facebook
  • Twitter
  • Line
  • Copy Link

“คูลเจอาร์ม-พิพัฒน์ เผยแรงบันดาลใจในการทำงาน คือถ้าเราเกิดแต่ไอเดีย แล้วพับเก็บไว้ มันก็ไม่ต่างจากคนที่ฝันไปเรื่อยๆ ไม่ลงมือทำ”

ประวัติอาร์ม พิพัฒน์ นักคิด นักออกแบบ ผู้ไม่หยุดแค่ฝัน แต่ลงมือทำจริง
“คูลเจอาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์”

เราอาจคุ้นหน้าคุ้นตากับผู้ชายคนนี้ ในฐานะดารา-นักแสดง สถาปนิก และพิธีกรรายการเด็ก-เยาวชนในรายการโทรทัศน์ต่างๆ หากแต่อีกหนึ่งบทบาทของคูลเจอาร์ม หรือ “อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์” ยังเป็นนักจัดรายการวิทยุชื่อดังจากคลื่น COOL Fahrenheit สถานีเพลงอันดับ 1 ในเครือ RS Group และยังเป็นชายหนุ่มผู้โชคดี ที่เพิ่งเข้าพิธีวิวาห์กับดาราสาวสวย “น้ำฝน-พัชรินทร์ ศรีวสุภิรมย์” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อาร์ม พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์คือหนึ่งในตัวอย่างของคนที่มีพลังแรงบันดาลใจ การมุ่งสู่จุดหมาย Passion to Win ในแบบที่เรารู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยในฐานะแขกรับเชิญคนพิเศษของเราในสัปดาห์นี้

“อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ และ คุณน้ำฝน-พัชรินทร์ ศรีวสุภิรมย์” ในพิธีวิวาห์
“คูลเจอาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์ และ คุณน้ำฝน-พัชรินทร์ ศรีวสุภิรมย์”

ถามถึงแรงบันดาลใจในวัยเด็กและประวัติของ “อาร์ม พิพัฒน์” ทำไมถึงเลือกเข้าเรียนคณะสถาปัตย์

“เป็นความฝันครับ เพราะเป็นคนชอบวาดรูป ชอบเขียน ออกแบบ เหมือนเด็กทั่วๆ ไปสมัยก่อนที่ชอบอ่านการ์ตูน ชอบวาดรูปการ์ตูน ก็ไปเรียนติวสถาปัตย์ตามความชอบเลยครับ แต่ผมต้องเรียนทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ ด้วย เพราะที่บ้านพยายามเชียร์ให้เข้าเรียนหมอ เราเองก็ยังเด็กยังไม่เป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่ พอสอบเทียบได้ตอน ม.4 เลยไปสอบตรงคณะแพทย์-ศิริราช แต่เอ็นฯไม่ติดหรอกครับ (หัวเราะ)

พอขึ้น ม.5 เราก็ลองไปฝึกงานที่ศิริราช ถึงค่อยเริ่มรู้ตัวว่าไม่ชอบเลือด กลัวมาก รู้สึกไม่ต้องเป็นหมอก็ได้มั้ง จนวินาทีสุดท้ายที่ต้องเลือกว่าเราอยากเข้าอะไรกันแน่ อันดับ 1 ที่ลอยมาในใจคือ เราอยากเป็นสถาปนิก อยากใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ก็เลยเลือกอันดับ 1 เป็น สถาปัตย์-จุฬา อันดับ 2 วิศวะฯ ด้วยความเป็นเด็กโลภมาก คือถ้าไม่เลือกคณะวิศวะฯ เราก็ไม่ต้องเรียนเคมี แต่พอเลือกอย่างนี้เลยกลายเป็นว่าผมต้องมานั่งอ่านเนื้อหาล่วงหน้า ต้องทำโจทย์เคมี และความถนัดวิศวกรประกอบไปด้วย ต้องติวสถาปัตย์ด้วย แต่สุดท้ายอาจจะเป็นว่าเราโชคดี ได้ตามที่เราต้องการจริงๆ คือ สถาปัตย์-จุฬาฯครับ” คูลเจอาร์ม พิพัฒน์กล่าว

คูลเจอาร์ม พิพัฒน์ลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างงานสายบันเทิงที่ทำอยู่ กับงานวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม

“สถาปนิกเป็นวิชาชีพที่ลงรายละเอียดกับทุกอย่างครับ เพราะมีผลต่อบุคคล เช่น สเปคแบบกระเบื้องปูพื้นตรงทางลงล็อบบี้หน้าตึก RS Group ถ้าวางแบบที่มันลื่นๆ พอเกิดฝนตกมันก็มีผล ขนาดนี่แค่ชิ้นเดียว ก็ยังมีรายละเอียดของมัน เลยเหมาะกับคำว่าวิชาชีพสถาปนิก ที่ต้องรับผิดชอบต่อการออกแบบของคุณ ส่วนด้านบันเทิงอาจจะเป็นคูลเจ เป็นพิธีกร หรือเป็นนักแสดง มันอีกแบบหนึ่งเลย เรารับผิดชอบในแต่ละจุดที่ไม่เหมือนกัน นักแสดงรับผิดชอบบทบาท พิธีกรรับผิดชอบการสื่อสาร สิ่งที่ทางรายการต้องการสื่อออกไป ส่วนคูลเจเป็นการสื่อสารโดยมีความเป็นตัวตนของตัวเองใส่ไปด้วย เหมือนที่ทุกคนฟังแล้วรู้สึกว่าฟังช่วงเช้ากับอาร์ม ฟังช่วงบ่ายกับพี่ขวัญ คนละอารมณ์กัน ทั้งๆ ที่บางทีเราอาจจะเปิดเพลงเดียวกันก็ได้”

“อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์” เผยความประทับใจจากผู้ฟังคูลฟาเรนไฮต์
“คูลเจอาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์”

“อาร์ม พิพัฒน์”ทำหน้าที่คูลเจมาแล้วกี่ปี มีเรื่องเล่าความประทับใจอะไรที่ได้จากผู้ฟังคูลฟาเรนไฮต์

“ผมได้มาทำหน้าที่ดีเจตั้งแต่เรียนจบสถาปัตย์ ในปี 2546 ตอนที่ยังเป็นสกาย-ไฮฯ เลยครับ จับพลัดจับผลูทำได้อยู่ 6 เดือน ก็ถูกชวนไปเล่นละคร ช่อง 7 แล้วก็กลับมาอีกตอนนั้นเป็นคลื่น FM Max ก็ทำอีกหลายปีเหมือนกันนะครับ แล้วก็เบรกไปทำโรงเรียนศิลปะ ทำบริษัทออกแบบ ทำรายการทีวี สอนศิลป์ รายการทางไทยพีบีเอส จนผู้บริหาร COOL Fahrenheit ชวนกลับมาในปี 2552 นี่ก็ 11 ปีแล้ว มีความประทับใจในแง่ความผูกพันของการเป็นคูลเจที่คนฟังอาจไม่รู้ตัวว่าเค้าฟังเราทุกวัน เค้ามองว่าเป็นกิจวัตรของเค้าไปแล้ว เช่นขึ้นรถมาเค้าเปิดเพลง เค้าฟังสิ่งที่เราพูด หรือบางทียิ้มไปกับสิ่งที่เรากำลังเอามาเล่า มันก็เลยทำให้เกิดความใกล้ชิด เราอาจจะคุยกับเค้า เล่าอะไรให้เค้าฟังมากกว่าเค้าได้ฟังจากคนในครอบครัวด้วยซ้ำ

เพราะในยุคนี้ทุกคนก็สนใจแต่มือถือ สนใจกับตัวเอง อย่างช่วงนี้โควิดผมใส่หน้ากากขับรถไปยื่นบัตรจอดคืนพนักงาน แล้วพูดแค่ว่า ‘ขอบคุณครับ’ เค้าก็สวนกลับมา ‘พี่อาร์มใช่มั้ยคะ?’ โห นี่เห็นแค่ตาเองนะ คำถามคือ จำได้หรือฟังอยู่ เค้าก็จะบอกว่า ‘ฟังทุกวันพี่’ บางคนขนาดเราทั้งใส่แมสใส่แว่นกันแดด แล้วถามแค่ว่า ‘เท่าไหร่ครับ?’ เค้าก็ถามกลับว่า ‘พี่จัดรายการวิทยุใช่มั้ย?’ โห เค้าจำเสียงเราได้ มันคือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าขอบคุณคนฟังเพราะว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เรากระชุ่มกระชวย เหมือนเราได้เติมพลัง ไม่ใช่ว่าเค้าเจอเราแล้วเค้าดีใจนะ แต่กลายเป็นว่า ผมต่างหากดีใจที่คุณได้ฟังสิ่งที่ผมทำ” คูลเจอาร์ม พิพัฒน์กล่าว

เทคนิควิธีสร้างแรงบันดาลใจในสไตล์คูลเจอาร์ม พิพัฒน์ เพื่อปลุกแรงผลักดันให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ (Passion to win)

“ผมจะมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งครับว่า ถ้ามีงานให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม เราควรจะลอง เพื่อที่จะได้รู้ว่าเราทำสิ่งนั้นออกมาได้แค่ไหน ได้เต็มที่หรือเปล่า อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้วผมเกิดไอเดียขึ้นมาว่า อยากทำแอปพลิเคชันที่คัดเลือกรายการยูทูป ที่เหมาะสมกับเด็กให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง เพราะอยากให้รู้ว่าการ์ตูน หรือแอนิเมชั่นที่มียอดวิวสูงๆ มันไม่ได้บอกถึงว่าคลิปวิดีโอนั้นดีกับลูกคุณเลย และทั้งๆ ที่ผมไม่เคยมีความรู้เลยว่าการเขียนแอปพลิเคชั่นต้องทำยังไง ผมก็ศึกษา และลองเสนอไอเดียนี้ เขียนเป็น proposal ทำแอปพลิเคชันKnow TV (Knowledge Television) ไปเสนอกับ TED Fund (กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม)

ผลประกวดผมได้ทุนมา 2 ล้านครับ ซึ่งตอนนี้เสร็จเป็นแพลตฟอร์ม ที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้ได้แล้ว เป็นแอปฯที่เราทำการเลือกการ์ตูน ที่เหมาะกับวัยของเด็กคนนั้นๆ มีเกมที่เสริมทักษะให้เด็กได้ด้วย คือดูแล้วเล่นแล้วฉลาดและสนุก ทำขึ้นเพื่อให้พ่อแม่กดให้ลูกๆ ดู คำถามคือ ทำไมต้องทำ ผมแค่อยากรู้ว่าผมจะทำได้มั้ย ถ้าเราเกิดแต่ไอเดีย แล้วลอยไป และพับเก็บไว้ มันก็ไม่ต่างจากคนที่ฝันไปเรื่อยๆ ไม่ลงมือทำ แรงบันดาลใจในการทำงานของผมคือ ในวัยหนึ่งที่เรามีแรงทำ ก็ทำซะ เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าเราถนัดอะไร และพัฒนาตัวเองได้มั้ย แต่ถึงวัยหนึ่งที่เราเริ่มรู้แล้วว่าเราถนัดอะไรมากกว่าก็เลือกมันสักอย่างเพื่อที่จะทำมันให้ดีครับ”

“อาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์” กับแผนชีวิตที่อยู่กับปัจจุบัน
“คูลเจอาร์ม-พิพัฒน์ วิทยาปัญญานนท์”

แผนชีวิตหรือโครงการอะไรที่อาร์ม พิพัฒน์ อยากทำในอนาคต

“แผนชีวิตสำหรับผมไม่มีจริงๆ นะ ผมรู้สึกว่าชีวิตคนเรามันสั้นครับ ถ้าเรามัวแต่เสียเวลาวางแผนใหญ่ๆ แล้วต้องมานั่งทำทีละขั้นตอนตามมัน ถ้าคุณทำได้มันก็ดี แต่ผมกลัวว่าเราจะไปนั่งวาดฝันแล้วลืมดูปัจจุบัน แผนของผมคือทำวันนี้ให้ดีที่สุด การวางแผนล่วงหน้าก็มีบ้าง เช่นเราอยากมีภาพครอบครัวแบบไหน มีภาพในการทำงานแบบไหน

สิ่งหนึ่งที่ในวงการบันเทิงสอนผมมาตลอดคือ ไม่มีอะไรแน่นอนในความแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดรายการวิทยุ การเป็นนักแสดง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็สามารถหายไปได้ทันทีเหมือนกัน แทนที่เราจะมาเสียเวลา วาดฝันซะยิ่งใหญ่ ปั้นสเต็ปแล้วต้องมาคอยรีเช็ค สู้เราทำวันนี้ แล้วถามตัวเองทุกวันดีกว่า วันนี้เรามีความสุขกับมันหรือเปล่า? อย่างผมจะมีความสุขกับเรื่องง่ายๆ เช่น วันนี้ผมใช้ปากกาหมดแท่ง โคตรมีความสุขเลย เพราะมันไม่ได้แสดงแค่ว่า ใช้คุ้มจัง แต่มันแสดงถึงว่าเราได้ใช้เวลากับมัน หนึ่งเราไม่ทำมันหาย รู้สึกขอบคุณปากกา คุณทำให้ผมรู้สึกว่าคุณอยู่กับผม และมีประโยชน์กับผมที่สุด วันหนึ่งเราก็คงเป็นแบบนั้นเหมือนกันที่หมึกหมด แต่เราจะหมดโดยที่เรามีประโยชน์ หรือเราจะหมดแบบถูกทิ้งหายไป” คูลเจอาร์ม พิพัฒน์กล่าวส่งท้ายถึงการเน้นลงมือทำมากกว่าการคิดและฝัน